หมวด 9
ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์
ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์
ข้อ 84 การจ้างและแต่งตั้งผู้จัดการ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถและความเหมาะสม เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้จัดการ ในการจ้างผู้จัดการสหกรณ์ต้องทำหนังสือสัญญาจ้างไว้เป็นหลักฐาน และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกให้มีหลักประกันอันสมควร
ในการแต่งตั้ง หรือจ้างผู้จัดการ ต้องให้ผู้จัดการรับทราบ และรับรองที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกำหนดไว้ตามข้อ 86 เป็นลายลักษณ์อักษร
ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบของสหกรณ์เกี่ยวกับการคัดเลือก หรือสอบคัดเลือก การแต่งตั้งหรือจ้าง การกำหนดอัตราเงินเดือนการให้สวัสดิการและการให้ออกจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์
ให้นำความตามข้อ 65 (1) (3) (4) (5) (6) (7) มาบังคับใช้กับการจัดจ้างและการดำรงตำแหน่งของผู้จัดการ
ข้อ 85 อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้จัดการ ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่จัดการทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้เป็นการถูกต้อง ตลอดเป็นธุระ จัดให้ผู้เข้าเป็นสมาชิกลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก และชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้ากับเงินค่าหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์
(2) ควบคุมให้มีการเก็บเงินค่าหุ้นรายเดือน แจ้งยอดจำนวนหุ้น จ่ายคืนค่าหุ้นและชักจูงการถือหุ้นในสหกรณ์
(3) รับฝากเงิน จ่ายคืนเงินฝาก และชักจูงการฝากเงินในสหกรณ์
(4) เป็นธุระในการตรวจสอบคำขอกู้ จ่ายเงินกู้ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้และ ดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องการให้เงินกู้ให้เป็นไปตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้
(5) จัดทำรายละเอียดเงินค่าหุ้นและเงินให้กู้แก่สมาชิกคงเหลือเป็นรายบุคคลทุกระยะหกเดือนพร้อมกับแจ้งให้สมาชิกทราบเป็นรายบุคคล เฉพาะของสมาชิกนั้น
(6) เป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(7) เป็นธุระกวดขันในเรื่องการออกใบรับ เรียกใบรับ หรือมีใบสำคัญโดยครบถ้วนรับผิดชอบในการรับ – จ่ายเงินทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้อง รวบรวบใบสำคัญและเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการเงินไว้โดยครบถ้วน และเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(8) รับผิดชอบและดูแลในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่างๆของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(9) ติดต่อประสานงานกับเลขานุการในการนัดเรียกประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และประชุมคณะกรรมการอื่นๆ
(10) รับผิดชอบจัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุนและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เสนอต่อที่ประชุมใหญ่
(11) เข้าร่วมประชุมชี้แจงในการประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการและประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ เว้นแต่ในกรณีซึ่งที่ประชุมนั้นๆมิให้เข้าร่วมประชุม
(12) ปฏิบัติการเกี่ยวกับการโต้ตอบหนังสือของสหกรณ์
(13) รักษาดวงตราของสหกรณ์ และรับผิดชอบทรัพย์สินต่างๆของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย
(14) เสนอรายงานกิจการประจำเดือนต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(15) เสนอรายการ หรือรายงานของสหกรณ์ต่อทางราชการตามแบบและระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด
(16) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการอื่นๆของสหกรณ์มอบให้ หรือตามที่ควรกระทำ เพื่อให้กิจการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี
ข้อ 86 การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้จัดการ ถ้าตำแหน่งผู้จัดการว่างลง และยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งแทน หรือเมื่อผู้จัดการไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้รองผู้จัดการหรือผู้ช่วย ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนดไว้เป็นผู้รักษาการแทน
ข้อ 87 การเปลี่ยนผู้จัดการ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้จัดการ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการต้องจัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน กับบรรดาทรัพย์และหนี้สินของสหกรณ์ ตลอดจนจัดทำงบดุลของสหกรณ์เพื่อทราบฐานะอันแท้จริงก่อนที่จะส่งมอบงาน
ข้อ 88 เจ้าหน้าที่อื่น นอกจากตำแหน่งผู้จัดการแล้ว สหกรณ์อาจจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่นตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานในสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ที่ปรึกษาและผู้ประสานงาน
ข้อ 89 ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจเชิญสมาชิกหรือบุคคลภายนอกซึ่งทรงคุณวุฒิความสามารถ และเหมาะสมเป็นที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ได้เพื่อให้ความเห็นแนะนำในการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบที่สหกรณ์กำหนด
ข้อ 90 ผู้ประสานงาน คณะกรรมการดำเนินการอาจแต่งตั้งผู้ประสานงานจากสหกรณ์หรือบุคคล ภายนอกให้ช่วยดำเนินการในกิจการเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงานของสหกรณ์
ผู้ตรวจสอบกิจการ
ข้อ 91 ผู้ตรวจสอบกิจการ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกหรือบุคคลภายนอกผู้มีคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถในด้านธุรกิจ การเงิน การบัญชี การเศรษฐกิจหรือการสหกรณ์คนหนึ่งหรือหลายคนให้เป็นผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์เป็นการประจำปี จำนวนผู้ตรวจสอบกิจการ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาให้มีจำนวนห้าคน ถ้าเป็นนิติบุคคลให้มีจำนวนหนึ่งนิติบุคคล
ที่ประชุมใหญ่จะเลือกตั้งกรรมการดำเนินการหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ประจำในสหกรณ์เป็นผู้ตรวจสอบกิจการไม่ได้
ข้อ 92 การดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการอยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดเวลา 1 ปี ทางบัญชีของสหกรณ์ ถ้าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ ก็ให้ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งออกไปนั้น อาจได้รับเลือกตั้งซ้ำ
ข้อ 93 อำนาจหน้าที่ของคณะผู้ตรวจสอบกิจการ คณะผู้ตรวจสอบกิจการมีอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ คือ
(1) ตรวจสอบเอกสาร สรรพสมุด บัญชี ทะเบียน และการเงิน ตลอดจนทรัพย์สินหนี้สินทั้งปวงของสหกรณ์ เพื่อทราบฐานะและข้อเท็จจริงของสหกรณ์ที่เป็นอยู่จริง
(2) ตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องของการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทของสหกรณ์ เพื่อประเมินผลและอาจให้ข้อแนะนำแก่คณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่นๆและสหกรณ์ทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติในกิจการนั้น ๆ
(3) ตรวจสอบการจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ ตลอดจนหนังสือสัญญาจ้าง และหลักประกัน
(4) ตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนงานและการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณรายจ่ายของสหกรณ์
(5) ติดตามผลการดำเนินการของคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุงแผนงาน ข้อบังคับและระเบียบ ตลอดจนมติต่างๆของคณะกรรมการดำเนินการ
(6) ตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ หรือกิจการอื่นๆตามที่เห็นสมควร หรือที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินกิจการของสหกรณ์
ให้ผู้ตรวจสอบกิจการเสนอรายงานผลการตรวจสอบประจำเดือนต่อคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมประจำเดือนคราวถัดไป แล้วเสนอผลการตรวจสอบประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วย